เราคงเคยได้ยินคำอวยพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ว่า “ขอให้ประสบความสำเร็จในอาชีพ หน้าที่การงาน ยิ่งๆ ขึ้นไป” ใช่ไหมครับ การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน หรือ การบรรลุเป้าหมายที่เราได้ตั้งไว้นั้น เชื่อว่า ทุก ๆ คนย่อมอยากได้ทั้งนั้น
หลักการสู่ความสำเร็จ 4 หลักการ
แต่หากไม่มองโลกสวยจนเกินไป ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จในหน้าที่ การงาน หรือ อาชีพ ที่ตนเองทำอยู่ ที่นี้เราก็ต้องมาดูว่า แล้วคนที่ประสบความสำเร็จ พวกเค้าทำอะไรที่ คนที่ไม่ประสบความสำเร็จไม่ได้ทำ ในบทความนี้ ผมอยากนำ หลักการสำคัญ 4 ข้อ ที่หากทุกคนนำไปปฏิบัติ ก็แน่ใจได้ว่า ชีวิตของคุณจะต้องประสบความสำเร็จแน่นอน
ซึ่งหลักการทั้ง 4 ข้อนี้ แท้จริงแล้วก็คือ หลักธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สอนสัตว์โลกไว้ ในหัวข้อ อิทธิบาท 4 มาแบ่งปันให้พวกเรา ได้นำไปปรับใช้กับการทำงานให้ประสบความสำเร็จ อิทธิบาท 4 เป็นคุณธรรมที่มีความสำคัญสูงมากในการพาตัวเองไปสู่เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ทั้งนี้ ขอพูดในแบบที่ adapt ใช้กับการทำงานแล้วนะครับ ประกอบด้วย
ฉันทะ : ความพึงพอใจในการทำงาน
ย้ำนะครับ ความพึงพอใจในการทำงาน ไม่ใช่พึงพอใจแค่ผลลัพธ์ของงาน ผมหมายถึงอะไร คนโดยทั่วไปมักจะชอบตั้งเป้าหมายในสิ่งที่อยากมี อยากได้ อยากเป็น เช่น รถหรูๆ เงินมากๆ บ้านแพงๆ การท่องเที่ยวดีๆ คุณภาพชีวิตที่หรูหรา
การตั้งเป้าหมายในสิ่งเหล่านี้ ไม่มีอะไรผิดนะครับ แต่ไม่เพียงพอที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายที่ต้องการได้ เหตุผลเพราะเราจะโฟกัสผิดจุด การที่เราเอาแต่ นั่งคิด นั่งฝัน อยากได้โน่น อยากได้นี่ แต่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือ “เหตุปัจจัย” ที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้จริงๆ
ขอยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราเอาเมล็ดมะม่วงปลูกลงไปในดินที่เหมาะสม และ รดน้ำ พรวนดิน ให้ปุ๋ย คอยหมั่นดูแลไม่แมลงมากัดกิน หากเราดูแลแบบนี้ ไปเรื่อยๆ (ทำกระบวนการที่ถูกต้อง มากพอ นานพอ) ต่อให้เรา พยายามสวดมนต์อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ ต้นมะม่วงอย่าโต อย่าออกดอก ออกผล (ขอผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม) เราคิดว่า ผลลัพธ์จะเป็นยังไงครับ แน่นอน ยังไงต้นมะม่วงต้นนี้ก็ต้องเติบโต เจริญงอกงาม ออกดอก ออกผล เพราะผลลัพธ์มันได้มาตาม เหตุปัจจัย (กระบวนการที่เราทำ)
ดังนั้นเหตุผลหลักที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะขาดการตั้งเป้าหมายในสิ่งที่ต้องทำ หรือ ขาดฉันทะในการที่จะลงมือทำ เรียนรู้ พัฒนา สร้างสรรค์ คนส่วนใหญ่ ไม่พึงพอใจในการทำงานหนัก ในการเรียนรู้ ไม่จ่ายราคาของการพัฒนาตนเอง ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนเป็นวิธี ที่จะทำให้ได้มาซึ่ง ผลลัพธ์ที่ต้องการ
และนั่นเป็นเหตุผลสำคัญว่า ลำพังเพียงแค่การอยากมี อยากได้ จึงเป็นได้แค่ อยากมี อยากได้ แต่ไม่เคยมี หรือ ไม่เคยได้ เพราะขาดฉันทะในการลงมือทำ แต่หากเรามีฉันทะ (ซึ่งไม่ได้หมายถึง เราต้องได้ทำสิ่งที่ชอบเสมอไป เพราะในการทำงานใดๆ ย่อมมีทั้งด้านที่เราชอบ และ ไม่ชอบ) เราก็จะเรียนรู้และพัฒนาวิธีที่ดีขึ้นๆอยู่ตลอดเวลา เมื่อเราตั้งเป้าหมายในการลงมือทำ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือ เราจะเกิด action plan โดยอัตโนมัติ จากนั้นจึงนำไปสู่…..
สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาชีพตัวแทนประกันชีวิต คลิก
วิริยะ : ความพากเพียร อุตสาหะ พยายาม
คือการนำ action plan ไปสู่การปฏิบัติ แต่ไม่มีแผนใดๆในโลก ที่นำไปลงมือปฏิบัติแล้วได้ผลตามคาดหวัง 100%
ทุกๆการลงมือทำ ย่อมมีอุปสรรค หรือ ปัญหา (ภาษาทางพระ เรียกว่า มาร) แต่เมื่อเจอปัญหา อุปสรรค การขัดขวาง ไม่ได้ดั่งใจ คนทั่วไปก็มักจะเกิดความท้อแท้ สิ้นหวัง หมดแรง โดยง่าย ทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมาย บนโลกนี้ไม่มีอะไรสำเร็จโดยปราศจากความพยายาม อุตสาหะ พากเพียร บากบั่น ดังนั้น วิริยะ นี้ จึงเป็นตัวทดสอบ ว่าคนๆนั้นจะสำเร็จหรือไม่
วิริยะ ยังให้ความหมายไปถึง ไม่เสร็จ ไม่สำเร็จ ไม่เลิก เอาชีวิตเป็นเดิมพัน (หากเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ มีคุณค่ามากพอ แพงพอ เราพร้อมแลกไม๊)
วิริยะ ยังให้ความหมายครอบคลุมไปถึง ความอดทน ด้วย ซึ่ง อดทน นี้ เป็นตัวสำคัญมากๆ อันดับต้นๆเลยก็ว่าได้ อด คือ ยังไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ทน คือ การอยู่กับสิ่งที่ไม่ต้องการ การเดินทางสู่ความสำเร็จ เราจะต้องอดทน จนผ่านไปให้ได้ เมื่อมี ฉันทะ และ วิริยะ แล้ว ก็มาสู่….
จิตตะ : การพลังแห่งความจดจ่อ มีสมาธิ
ไม่วอกแวก ไม่อ่อนไหว โลเลใจง่ายๆ เมื่อตัดสินใจลุยแล้ว ก็จดจ่ออยู่กับ ชิ้นงานนั้นๆจนกว่าจะบรรลุผล
ยิ่งมีสมาธิ ยิ่งจดจ่อ อุปสรรคที่ใหญ่โต ก็ดูจะเล็กไปสำหรับเรา เพราะเราจดจ่ออยู่กับการลงมือทำไปสู่เป้าหมาย เวลาจิตจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราจะไม่เหลือสมองไปเสียเวลากับเรื่องไร้สาระต่างๆ ทั้งการเล่นโซเชียลมีเดีย การซุบซิบนินทา หรือการเสพข่าวสารใดๆ ที่ไม่สร้างสรรค์
ยิ่งจดจ่อ ยิ่งมีสมาธิ ก็ยิ่งเกิดความต่อเนื่อง ความลื่นไหล ภาษาทางเทคนิค เรียกว่า อยู่ใน “Flow Stage” หรือ สภาวะที่สามารถทำงานได้อย่างลื่นไหลต่อเนื่องไป จนบางครั้ง เราอาจจะลืมเวลาไปเลยก็ได้
หลายๆครั้งในการสร้างชีวิตให้ประสบความสำเร็จ เราต้องรู้จักคำว่า “ก้มหน้า ก้มตา ทำงาน” ไม่สนใจใคร ไม่ยุ่งกับใคร ยุ่งอยู่กับแต่ชิ้นงานที่ถูกเลือกแล้ว และลงมือทำอย่างต่อเนื่อง
แต่ปัจจุบัน ดูเหมือนโลกจะหมุนเร็วขึ้น คนส่วนใหญ่อยากประสบความสำเร็จเร็ว ขาดความอดทน การรอคอย และไม่ค่อยเชื่อกับคำว่า “ทำงานหนักและต่อเนื่อง” หลายๆคนกลายเป็นคนประเภท “ใจเร็วด่วนได้”
แน่นอนครับ การก้มหน้า ก้มตา ทำแต่งาน ก็ต้องมีตัวปัญญา ตัวสุดท้ายมาคอยปรับแต่งวิธีการ นั่นคือ….
วิมังสา : การพิจารณาไตร่ตรอง ด้วยปัญญา
ว่า วิธีการที่ทำอยู่นั้น ถูกต้องเหมาะสมเพียงใด การวิเคราะห์ วิจัย ช่วยให้เรา ทำได้ถูกต้องมากขึ้น ไม่ใช่ก้มหน้า ก้มตา ทำแบบผิดวิธี แบบนั้น อีก 100 ชาติ ก็ไม่มีวันไปถึงเป้าหมาย
ลองนึกภาพถึง ผึ้งตัวนึงที่พยายามบินออกจากห้องทางหน้าต่าง ซึ่งมีหน้าต่างกระจกใส 2 บาน บานนึงปิดอยู่ แต่อีกบานเปิดอยู่ เจ้าผึ้งมันเห็นหน้าต่างใสบานที่ปิดอยู่ มันก็คิดว่า มันจะบินออกทางนี้ แต่เมื่อบินไปก็ชนกับกระจก แต่เจ้าผึ้งน้อยตัวนี้ เป็น นักสู้ ไม่ยอมแพ้ และ จดจ่อ มุ่งมั่นกับการพยายามจะบินออกจากห้องโดยผ่านกระจกบานนี้เท่านั้น มันก็บินชนกระจกครั้งแล้วครั้งเล่า จนสุดท้ายมันอ่อนแรงและชนกระจกจนตัวตาย
แต่หากเจ้าผึ้งน้อยตัวนี้ ใช้ปัญญาพิจารณา ถึงผลลัพธ์ที่ได้จากวิธีการที่ผิด แล้ว เปิดใจ ยอมรับความผิดพลาด เรียนรู้ วิเคราะห์ มันอาจจะพบว่า มันแค่ลองเปลี่ยนไปบินออกผ่านหน้าต่างอีกบานที่เปิดอยู่ มันก็สามารถบินออกจากห้องได้สำเร็จ (บรรลุเป้าหมาย)
ทีนี้ในชีวิตจริง ในหลายๆครั้ง เราอาจจะยังมีประสบการณ์น้อย ความรู้น้อย ซึ่งบางทีเราก็ไม่อาจรู้ได้ด้วยตัวเองว่า วิธีการไหนมัน work หรือ ไม่ work
บางทีเราต้องอาศัย ปัญญา หรือ ความรู้ ประสบการณ์ จาก หัวหน้าของเรา หรือ พี่เลี้ยง หรือคนที่เคยประสบความสำเร็จ ที่เคยเดินผ่านเส้นทางนี้มาก่อนเรา เคยลงมือทำและบรรลุเป้าหมายจริงๆ มาแล้ว
ดังนั้น การที่จะประสบความสำเร็จ ในหลายๆกรณี เราจึงจำเป็นต้องมี โค้ช หรือพี่เลี้ยง หรือ ผู้นำทาง ที่คอยสั่งสอน ชี้แนะแนวทาง แต่ โค้ชลงมือทำแทนเราไม่ได้ ได้แค่ชี้แนะแนวทาง ปรับแต่งทิศทาง ให้กับเรา แต่เราต้องลงมือทำเอง เจ็บเองบ้าง เรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้น
ดังนั้น ในข้อ วิมังสา นั้น ยังครอบคุลมไปถึง การใช้ปัญญาพิจารณา เลือก โค้ช ผู้นำ หรือ พี่เลี้ยง ที่ถูกต้องด้วย ในหลายๆครั้ง พี่เลี้ยงคนแรกๆ อาจจะยังพาเราไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่ก็เป็นการนำพาเราเดินไปบนเส้นทางที่ถูกต้อง เพื่อพบเจอ โค้ช หรือ ผู้นำคนต่อๆไป ที่จะสามารถพาเราไปถึงเป้าหมายได้ในอนาคต
สรุป
ผมเชื่อมั่นสูงมากว่า หลักการสู่ความสำเร็จ หรือหลักธรรมะ ในเรื่อง อิทธิบาท 4 หากใครนำไปใช้อย่างถูกต้อง ต่อเนื่องนานพอ ย่อมจะทำให้เกิดผลสำเร็จทั้งต่อตนเอง ครอบครัว หน้าที่การงาน อาชีพ และจริงๆแล้ว เราสามารถนำไปใช้ได้กับบรรลุผลลัพธ์ในชีวิตทุกๆ เรื่อง
Black Swan Planner บริการวางแผนการเงินให้สอดคล้องกับเป้าหมายชีวิตของคุณ